วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2551

2551 ปีแห่งการล่มสลายของตระกูล"ชินวัตร"




ปี 2551 กำลังจะผ่านไป ปีแห่งความสับสน วุ่นวาย ปีแห่งความขัดแย้ง แบ่งภาค แบ่งสี แบ่งฝัก แบ่งฝ่าย เพราะเงื่อนไขจากชายเพียงคนเดียว “ ทักษิณ ชินวัตร ” อดีตผู้นำผลัดถิ่นที่ยังคงโผบินเหมือนนกไร้รัง หลังถูกรัฐบาลอังกฤษถอนวีซ่าหมดวาสนาจะลี้ภัยในเมืองผู้ดี แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครตอบได้ว่า “ ทักษิณ” อยู่ที่ไหน แว่วเพียงเสียงแผ่วๆผ่านสาย “โฟนอิน” กลับมาให้แฟนๆชาว นปก.เสื้อแดงได้ยินเดือนละครั้งสองครั้ง และในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้องรับปีใหม่เช่นนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะรวบรวมคดีความในช่วงปีที่ผ่านมาของ “ ทักษิณ ” สืบเนื่องจากการใช้ตำแหน่งหน้าที่โกงกินประเทศชาติ กลับมาเตือนความจำให้หายคิดถึงกันอีกครั้ง ในปีที่ผ่านมามีคดีความของ ทักษิณ และวงศ์วานว่านเครือ ถูกพิพากษาโทษไปแล้ว ถึง 3 คดี เริ่มจากกลางปี 25 มิ.ย. ศาลฎีกา มีคำพิพากษา จำคุกคนละ 6 เดือนฐานละเมิดอำนาจศาล “ พิชิฏ ชื่นบาน - ศุภศรี ศรีสวัสดิ์ - ธนา ตันศิริ ” สามทนายในคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ ที่หาญกล้านำถุงขนมสอดไส้เงินสด 2 ล้านบาท ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการ ถึงบนอาคารศาลฎีกาฯ ต่อมา 31 ก.ค. ศาลอาญา พิพากษาจำคุก คนละ 3 ปี คุณหญิงพจมาน ชินวัตร และบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมในดคีหลีกเลี่ยงการเสียภาษีจากการซื้อขายหุ้น บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ( มหาชน ) แถมยังสั่งจำคุกนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน อีก 2 ปี ผลของคำพิพากษาใน 2 คดีข้างต้น ทำเอา “ อดีตนายกฯขวัญใจคนจน ” อย่างทักษิณ รู้ทันทีว่าตัวเองใกล้ชะตาขาด แม้จะมีอำนาจควบคุม ครม. และส.ส.เกือบทั้งสภา แต่สุดท้ายเงินที่โกงชาติมากลับซื้อ “ ศาลสถิตยุติธรรม ” ไม่ได้ สุดท้ายจึงต้องกระเตงลูกเมียหลบหนีภัยออกนอกประเทศ โดยอ้างเหตุว่าจะไปร่วมพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกที่เมืองจีนแผ่นดินใหญ่ แต่สุดท้ายไม่ยอมกลับแผ่นดินเกิด แถมยังออกแถลงการณ์ย่ำยีกระบวนการยุติธรรมไทยว่ามุ่งร้ายทำลายตนเองจนต้องไร้แผ่นดินอยู่ 21 ต.ค. เป็นวันสำคัญที่สุดของปีที่ผ่านมา เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา “ จำคุก 2 ปี ” อดีตนายกรัฐมนตรีหน้าเหลี่ยม “ ทักษิณ ชินวัตร ” ในความผิดตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. กรณีปล่อยให้คุณหญิงพจมาน ภริยาเข้าเป็นคู่สัญญาประมูลซื้อที่ดิน 33 ไร่ ย่าน ถ.รัชดาฯ จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ได้ในราคา 772 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อขายที่ดินที่ต่ำกว่าราคาประเมิน และทำให้ชื่อของ “ ทักษิณ ชินวัตร ” ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยว่าเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ถูกพิพากษาจำคุกจากการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ เมื่อ ทักษิณ ต้องหนีคุกกลับเมืองไทยไม่ได้ ส่งผลให้คดีทุจริตอีกมากมาย ต้องหยุดชะงัก หมดทางที่จะพิสูจน์ความผิดอดีตผู้นำจอมโกง โดยเฉพาะคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งต้องจำหน่ายไว้เป็นการชั่วคราว ประกอบด้วย คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว “หวยบนดิน” ซึ่ง คตส. ได้ยื่นฟ้อง ทักษิณ คณะรัฐมนตรี และผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวม 47 คนเป็นจำเลย ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยเงินกู้ 4,000 ล้านบาทให้กับรัฐบาลพม่า เพื่อดำเนินโครงการจัดซื้ออุปกรณ์กิจการโทรคมนาคมจาก บริษัทในเครือ ชินคอร์ปฯ ของครอบครัวชินวัตร ซึ่ง ทักษิณ เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการดูแลกิจการเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และมาตรา 157 คดีทุจริตแปลงค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ - ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ปฯ ทำให้รัฐเสียหายกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ทักษิณ เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว , เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 คงเหลือเพียงคดีแพ่งในส่วนของการยึดทรัพย์ ที่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำสั่งรับคำฟ้องของอัยการสูงสุดที่ขอให้ยึดทรัพย์มูลค่ากว่า 7.6 หมื่นล้าน ของทักษิณ อันได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดิน จากกรณีจงใจฝ่าฝืน พ.ร.บ.ป.ป.ช.ทำให้ธุรกิจครอบครัวมีการเพิ่มมูลค่านับแสนล้านบาท รวมทั้งมีการออกมาตรการแก้ไขสัญญาบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ซึ่งต้องรอติดตามกันหลังปีใหม่ว่าจะสามารถยึดเอาขุมทรัพย์มูลค่ามหาศาลอันได้มาจากการ “ทุจริตเชิงนโยบาย” คืนมาได้หรือไม่ ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง อัยการ กับ ปปช. มี 2 คดี คือ “ คดีทุจริต CTX 9000” ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการจัดซื้อจัดจ้างปรับเปลี่ยนสายพานลำเลียงกระเป๋าผู้โดยสารและเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX 9000 ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยคดีนี้ คตส.ชี้มูลความผิด ทักษิณ กับพวก ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ “ คดีธนาคารกรุงไทย อนุมัติเงินกู้ให้กับบริษัทในเครือกฤษดามหานคร ” ซึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) คตส. ชี้มูลความผิด ทักษิณ กับพวก รวมทั้งชี้มูลความผิด “ พานทองแท้ ชินวัตร ” บุตรชายกับพวกในข้อหารับของโจร โดยแยกออกมาเป็นอีกสำนวนคดีหนึ่งเนื่องจากเป็นบุคคลธรรมดา ปี 2552 กำลังจะผ่านเข้ามา เชื่อได้ว่าหากยังไม่ถูกลากคอมาเข้าคุก “ ทักษิณ ” จะยังคงเปิดเกมรุกอย่างต่อเนื่อง ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาให้กลุ่มก๊วนการเมือง และลิ้วล้อ นปก.เสื้อแดง ก่อความวุ่นวายแบบไม่หยุดหย่อน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ “ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ในฐานะผู้ถืออำนาจตามหมายจับตามคำสั่งศาล ต้องควานหาที่อยู่ของ ทักษิณ ก่อนประสานความร่วมมือกับ “ กระทรวงการต่างประเทศ ” และ “ อัยการของแผ่นดิน” เพื่อยื่นคำร้องขอตัวกลับมารับโทษให้ได้ ไม่ว่า “ ทักษิณ” จะอยู่ที่ไหน ที่แห่งนั้นจะมีสนธิสัญญาผู้ร้ายข้ามแดน หรือหลักต่างตอบแทนระหว่างประเทศ หรือไม่ เพื่อความสงบสุขของแผ่นดินไทยในปี 2552

ไม่มีความคิดเห็น: